Skip to content

#สรุปให้ 10 ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมตลอดปี 2019 (1)

#สรุปให้ 10 ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมตลอดปี 2019 (1)

#ใหญ่กว่าที่คิด คือคำนิยามที่เรารู้สึกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นถูกพูดถึงอย่างจริงจังกว่าทุกปี ความตลกร้ายก็คือ เหตุการณ์ภัยธรรมชาติมากมายที่มีเหมือนเกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า ‘โลกร้อน’ นั้นมีอยู่จริง และนี่คือ 10 ปรากฏการณ์ที่เราสรุปมาให้เตรียมตัว และเตรียมใจสำหรับทศวรรษใหม่ในปีหน้า

1. เกรต้า ธันเบิร์ก
เจ้าของวลี “How dare you” หรือ “พวกคุณกล้าดียังไง” สาวน้อยชาวสวีเดนวัย 16 ปีที่คนทั้งโลกรู้จักเพียงชั่วข้ามคืนจากวลีดังกล่าว เธอขึ้นพูดที่สหประชาชาติ โดยแสดงความโกรธแค้นต่อผู้ใหญ่ที่สร้างปัญหาให้คนรุ่นใหม่อย่างเธอได้เผชิญ วรรคหนึ่งของสุนทรพจน์มีใจความว่า “ระบบนิเวศกำลังล้มลง เรากำลังจะสูญพันธุ์ แต่พวกคุณกลับพูดถึงกันแต่ความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจ คุณกล้าดีอย่างไร!” แม้ว่าบางคนจะไม่เห็นด้วยกับคาแรกเตอร์หัวร้อนของเกรต้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าเธอคือไอคอนแห่งยุคทิ้งท้ายทศวรรษนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี อย่างน้อยก็ทำให้หลายคนได้มองเห็นว่าปัญหาโลกร้อนมันใหญ่มาก และส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกจริงๆ

2. การตายของ ‘มาเรียม’
จากรอยยิ้มกลายเป็นน้ำตา เรื่อง ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยกำพร้าแม่ที่เกยตื้นอยู่บ่อยครั้งจนทีมสัตวแพทย์ต้องเข้ามาคอยเป็นพี่เลี้ยง และดูจะติดคนเหมือนเด็กน้อยคนหนึ่ง มาเรียมสร้างความอบอุ่นในหัวใจให้คนไทยได้ไม่นาน ก็เสียชีวิต ผลชันสูตรระบุว่ามีเศษพลาสติกติดอยู่ในลำไส้จนเกิดการอักเสบ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด และช็อกตายในที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าขยะในทะเลเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิต คนทิ้งขยะแบบมักง่ายกลายเป็นฆาตกรได้อย่างไม่รู้ตัว

3. ‘อินเดีย’ กำลังจะกลายเป็นนรกบนดิน
ปีที่ผ่านมา อากาศที่ประเทศอินเดียร้อนระอุจนเป็นข่าว เพราะอุณภูมิสูงทะลุ 50 องศาเซลเซียส ไปหยุดอยู่ที่ 51 องศาเซลเซียสนานติดต่อกันถึง 3 วัน แค่นั้นยังไม่พอ อินเดียยังเจอกับวิกฤตฟองพิษในแม่น้ำซึ่งเกิดจากการปล่อยสิ่งปฏิกูล และสารเคมีลงสู่แม่น้ำในเมืองเดลีห์ ซึ่งชาวฮินดูต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาท่ามกลางโฟมพิษอย่างน่าอนาถใจ แค่นี้ยังไม่พอ เพราะยังมีภาพของกองภูเขาขยะออกเผยแพร่ออกมาให้ได้เห็น ความสูงของมันกำลังจะเท่าทัชมาฮาล จนต่อไปอาจจะต้องติดสัญญาณไฟสีแดงบนกองขยะเพื่อเตือนเครื่องบินในขณะที่บินผ่าน ก็ยังต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลจะเข้ามาแก้ปัญหาที่สามารถจัดการได้ยังไง

4. ไหม้หมดป่า ไฟโหมอเมซอน และออสเตรเลีย
อีกหนึ่งเรื่องสะเทือนใจที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น นั่นคือภาพเพลิงที่กำลังโหมผืนป่าอเมซอ ป่าผืนสำคัญของทวีปอเมริกาใต้ ภาพจำของสีเขียวขจีและความอุดมสมบูรณ์ ความน่าโมโหมาเกิดขึ้นตรงผลสรุปของต้นเพลิง ซึ่งเกิดจากการแผ้วทางป่าเพื่อทำปศุสัตว์! ไม่ต้องถามถึงมูลค่าความเสียหาย เพราะคงไม่มีใครประเมิณได้ เช่นเดียวกับความสูญเสียในประเทศออสเตรเลีย แม้ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ แต่สภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติก็เป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจนเป็นภัยพิบัติ!

5. ทะเลเวนิส เมืองสวยจมบาดาล
ก็รู้กันอยู่ว่าสายน้ำกับเวนิสเป็นของคู่กัน และเหตุการณ์น้ำท่วมก็เป็นเรื่องปกติของเมืองใกล้น้ำ แต่อุทกภัยในครั้งนี้คือภัยพิบัติที่ชาวอิตาเลียนบางคนก็ยังไม่เคยเจอ น้ำทะเลยกตัวสูงถึง 3 ครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ ท่วมทั่วทั้งเมืองโดยความสูงอยู่ที่ 1.5 เมตร จนเจ้าหน้าที่ต้องประกาศสภาวะฉุกเฉิน สร้างความเสียหายทั้งร้านค้า และสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นมรดกโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คาดว่าความเสียหายทั้งหมดนั้นสูงถึง 33,400 ล้านบาท นักท่องเที่ยวหนีตายกับชุลมุน และคงต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานพอสมควร

อีก 5 เหตุการณ์สำคัญสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย ใครว่าโลกร้อนไม่เกี่ยวกับเรา!?

6. กินปลา = กินพลาสติกแล้วนะ (รู้ยัง?)
งานวิจัยชิ้นล่าสุดเผยว่ามนุษย์นำพลาสติกเข้าร่างกาย 130,000 ชิ้นต่อไป เกือบทั้งหมดเป็นไมโครพลาสติกที่เดินทางผ่านอากาศ น้ำ โดยเฉพาะอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผลการศึกษาไมโครพลาสติกในปลาทู
บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง พบไมโครพลาสติกเฉลี่ย 78 ชิ้นต่อตัว ประกอบด้วยเส้นใย เม็ด แท่ง กลิตเตอร์ ส่วนการศึกษาจากต่างชาติ ก็พบว่ามีไมโครพลาสติกเช่นกัน พวกมันไม่ได้กินไมโครพลาสติกโดยตรง แต่พวกมันกินไมโครพลาสติกจากอาหารของพวกมัน เช่น ปลา เป็นต้น

7. ตัวร้ายใหม่ที่ชื่อ ‘พลาสติกย่อยสลายได้’
ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าการใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ตามธรรมชาตินั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ เพราะถึงแม้จะผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยอื่นในการย่อยสลาย เช่น แสง และน้ำ โดยอาศัยระยะเวลาที่สั้นกว่าพลาสติกทั่วไป แต่ถ้าหากเกิดการใช้ในปริมาณที่มากและย่อยสลายไม่ทัน พลาสติกที่ดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็สามารถแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกลงไปปะปนอยู่ในดิน น้ำ หรืออาหารที่เรากินแบบที่ตามองไม่เห็นแม้แต่นิดเดียว

8. งดถุง ลดถุง มาตรการเอาจริงเรื่องถุงพลาสติก
และแล้วก็ถึงคิวเมืองไทย เมื่อรัฐออกมีดีเดย์ว่าจะเข้มงวดกับการแจกถุงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ที่มาคงไม่ต้องพูดถึง เพราะขยะและพลาสติกเป็นวิกฤตที่ประชากรในหลายประเทศเผชิญร่วมกัน ซึ่งควรจะเป็นวาระแห่งชาติตั้งนานแล้ว! ความน่าสนใจคงอยู่ที่การปรับตัวของทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ

9. กระทงไม่หลงทาง พบปริมาณขยะลดลงจริง!
กลายเป็นว่ากระแสรักษ์โลกทำให้ประเพณีลอยกระทงต้องสั่นคลอน! ยิ่งใกล้วันลอยกระทงเท่าไหร่ ข่าวการปล่อยขยะลงแม่น้ำยิ่งโหมกระหน่ำ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม จนในที่สุดเมืองหลวงของเราสามารถลดขยะจากกระทงไปได้มากถึง 300,000 ใบ!! (อ่านว่า สาม-แสน-ใบ!) ถือเป็นหนึ่งในข่าวสิ่งแวดล้อมที่น่าดีใจที่สุดในรอบปีนี้ พลังของโลกโซเชียลได้ผลอีกครั้ง

10. ใบไม้ใส่อาหาร
ก่อนหน้านี้เรามีแค่กล่องกระดาษรักษ์โลก แต่ปี 2019 ถือเป็นการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ มีตั้งแต่ใบเล็บครุฑสดๆ ที่ลักษณะเหมือนถ้วยโฟม ใส่อาหารในงานออกร้าน จานกาบหมากสีเบจสุดเท่ ถ้วยจากใบทองกวาว หลอดจากตะไคร้ รวมถึงกาบกล้วยที่มีประโยชน์กว่าไปทำกระทง! จริงอยู่ที่วัสดุจากธรรมชาติเหล่านี้ ต่างนี้ข้อจำกัดเรื่องความคงทน และอายุการใช้งาน แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มนต้นเท่านั้น เชื่อว่าอีกไม่นานอาจมีการผสานเทคโนโลยีให้แข็งแรงและคงทนมากขึ้น ปี 2020 ได้เจอของจริงแน่!


กำกับโดย: LANE for LESS
เนื้อเรื่อง: LANE for LESS

Most Visited

Related Posts
#สรุปให้ 10 ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมตลอดปี 2019 (1)
Stories

#LeeFlukeEverAfter LANE for LESS First Sustainable Wedding

#สรุปให้ 10 ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมตลอดปี 2019 (1)
Stories

#สรุปให้ 10 ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมตลอดปี 2019 (1)

#สรุปให้ 10 ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมตลอดปี 2019 (1)
Stories

‘ปั๊มเติมน้ำยา’ เคล็ดลับการใช้เท่าเดิม แต่ลดขยะให้เป็น 0

#สรุปให้ 10 ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมตลอดปี 2019 (1)
Stories

คาสิโนแอดมิสชันสต๊อคทาวน์